ท้าวเธอได้ตรัสถามต่อไปว่า “แต่ความลับบางอย่าง เป็นความลับร่วมกัน จำเป็นต้องร่วมกันคิดอ่าน แล้วอย่างนี้จะพึงปฏิบัติเช่นไรล่ะ”
มโหสถบัณฑิตก็ทูลสนองว่า “หากจะต้องปรึกษาหารือกันก็อย่าให้พร่ำเพรื่อ และต้องเลือกเวลาและสถานที่อันควร เมื่อจะพูดความลับในตอนกลางวัน ก็ต้องเป็นที่ลับเฉพาะ ถ้าเป็นตอนกลางคืน ก็ต้องไม่พูดให้ดังเกินไป และพึงระลึกเสมอว่า โอกาสที่จะถูกดักฟังความลับนั้นมีอยู่เสมอ”
พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับถ้อยแถลงของมโหสถแล้ว ก็ทรงเข้าใจแจ่มแจ้ง และทรงเห็นชัดว่า มโหสถบัณฑิตเป็นผู้บริสุทธิ์ ปราศจากมลทิน แต่ผู้ผิดกลับเป็นอาจารย์ทั้ง ๔ เสียเอง จึงทรงสั่งลงอาญาให้คุมตัวอาจารย์ทั้ง ๔ ออกจากเรือนจำ แล้วนำตัวไปตัดหัวเสีย
ขณะที่อาจารย์ทั้ง ๔ กำลังถูกลากตัวไปสู่ลานประหารนั่นเอง มโหสถซึ่งยังคงเฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระราชา กำลังรอคอยโอกาสที่จะกราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษแก่อาจารย์เหล่านั้น
ครั้นเห็นว่าท้าวเธอทรงบรรเทาจากพระอาการพิโรธบ้างแล้ว จึงค่อยๆกราบทูลว่า “ขอเดชะพระอาญามิพ้นเกล้า ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่า อาจารย์เหล่านี้เป็นอำมาตย์ชั้นผู้ใหญ่ ทั้งเป็นคนเก่าคนแก่อยู่ในราชสำนักนี้มานาน และที่ผ่านมาก็เอาใจใส่ในราชกิจของพระองค์เสมอมา ฉะนั้น ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทโปรดทรงพระกรุณา พระราชทานอภัยงดโทษประหารชีวิตให้แก่อาจารย์เหล่านั้นสักครั้งหนึ่งเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชกลับมิได้ทรงคิดเช่นนั้น เพราะทรงเห็นว่า อาจารย์ทั้ง ๔ แม้เป็นผู้ใหญ่ก็ไม่รู้จักสำนึก ทั้งได้ทำความผิดซ้ำซ้อนเรื่อยมา จึงไม่ปรารถนาจะให้อภัยเลย แต่ภายหลัง ทรงเห็นถึงความตั้งใจจริงที่มโหสถเฝ้าเว้าวอนอยู่อีกหลายครั้ง ทรงเห็นว่า แม้มโหสถเป็นผู้เสียหายเอง เกือบจะเอาชีวิตไม่รอด ก็เพราะอาจารย์ทั้ง ๔ เหล่านี้เป็นเหตุ เขายังคิดให้อภัยไม่ถือโทษ
ท้าวเธอเมื่อทรงนึกถึงคุณงามความดี และน้ำใจอันยิ่งใหญ่ของมโหสถบัณฑิต ที่ไม่คิดร้ายตอบต่ออาจารย์เหล่านั้นเลย น้ำพระทัยก็อ่อนลง จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้งดโทษประหารชีวิตอาจารย์เหล่านั้น “เอาเถิดพ่อมโหสถ หากว่านั่นเป็นความประสงค์ของเธอ เราก็จะไม่ขัดล่ะ”
ตรัสดังนี้แล้ว ท้าวเธอก็มีรับสั่งให้เหล่าราชบุรุษรีบตามไปบอกคณะราชมัล ให้นำตัวอาจารย์เหล่านั้นกลับมาโดยเร็ว
ฝ่ายราชมัลซึ่งกำลังพาตัวอาจารย์เหล่านั้นไปจวนจะถึงลานประหารใกล้ประตูพระนครเต็มที เมื่อเห็นราชบุรุษติดตามมา จึงสั่งให้ระงับการเฆี่ยนไว้ชั่วคราว
ภายหลังที่ได้ทราบข่าวจากเหล่าราชบุรุษว่า พระราชามีพระกระแสรับสั่งให้ระงับโทษประหารชีวิตไว้ก่อน จึงต้องทำตามพระราชบัญชา โดยงดการลงมือประหารไว้ จากนั้น จึงรีบพาตัวอาจารย์ทั้ง ๔ กลับเข้าเฝ้าพระราชาในทันที เพื่อรอฟังต่อไปว่า ท้าวเธอจะทรงตัดสินพระทัยต่อไปอย่างไร
ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหราชทอดพระเนตรเห็นอาจารย์เหล่านั้น มีกายบอบช้ำเต็มไปด้วยรอยหวายที่กลางหลัง ท้าวเธอจึงเกิดความกรุณา ได้ตรัสกับมโหสถว่า “เอาล่ะ พ่อมโหสถ นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราขอยกอาจารย์ทั้ง ๔ ให้เป็นทาสของเธอ หากเธอประสงค์จะใช้สอยอย่างไร ก็พึงกระทำตามที่เธอปรารถนาเถิด”
“เป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้า พระพุทธเจ้าข้า เมื่อเป็นดังนี้ ข้าพระพุทธเจ้าก็จักขอเปลื้องอาจารย์ทั้ง ๔ ให้พ้นจากความเป็นทาส และจงเป็นไทแก่ตน นับแต่นี้เป็นต้นไปเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
มโหสถกราบทูล
“ถ้าเช่นนั้น อาจารย์ทั้ง ๔ ก็อย่าได้อยู่ในแว่นแคว้นของเราเลย จงขับไล่ออกไปให้พ้นจากมิถิลานครเถิด” ท้าวเธอตรัสด้วยพระสุรเสียงเฉียบขาด
มโหสถทราบดีว่า พระราชายังทรงพิโรธอยู่ แต่อาศัยความเมตตากรุณาที่มีต่ออาจารย์เหล่านั้น จึงค่อยๆ กราบทูลว่า “ขอเดชะ ขอได้ทรงพระกรุณางดโทษแก่อาจารย์เหล่านี้ผู้มืดมนเสียเถิดพระพุทธเจ้า และขอได้โปรดให้อาจารย์ทั้ง ๔ คงดำรงอยู่ในฐานันดรอย่างเดิมเถิด พระเจ้าข้า”
พระเจ้าวิเทหราชทรงดำริว่า “บุคคลผู้มีจิตใจกว้างขวางเช่นนี้ ช่างหาได้ยากยิ่ง ดูหรือ ปัจจามิตรผู้ปองร้ายตนแท้ๆ พ่อมโหสถยังมีใจกรุณาได้ถึงเพียงนี้”
ท้าวเธอทรงดำริดังนี้แล้ว ก็ยิ่งทรงเลื่อมใสในมโหสถบัณฑิต มากยิ่งขึ้นไปอีก ในที่สุดท้าวเธอจึงทรงพระราชทานให้ตามที่มโหสถทูลขอไว้ คือนอกจากจะไม่เอาผิดกับอาจารย์เหล่านั้นแล้ว ยังให้กลับมาดำรงอยู่ในตำแหน่งราชบัณฑิตต่อไป
ส่วนอาจารย์เหล่านั้น บัดนี้พวกเขาได้รู้ซึ้งเป็นอย่างดีว่า ที่พวกตนรอดชีวิตมาได้เพราะอาศัยมหากรุณาของมโหสถบัณฑิตโดยแท้ จึงต่างพากันขอขมาโทษมโหสถเป็นการณ์ใหญ่
เมื่อได้สำนึกถึงความผิดของตนแล้ว ความคิดที่เป็นศัตรูกับมโหสถก็พลันหมดสิ้นไป ต่างพากันละพยศหมดพิษสงเหมือนงูที่ถูกถอนเขี้ยว แล้วนับแต่บัดนั้นมา อาจารย์ทั้ง ๔ ก็ไม่กล้าที่จะเพ็ดทูลอะไรๆ กับพระราชาอีก แม้ในยามเข้าเฝ้า ก็รอเพียงพระเจ้าวิเทหราชจะทรงพระกรุณาบัญชาว่าอย่างไร ไม่กล้าออกความคิดเห็นใดๆ อีกเลย
บัดนี้ศึกภายในก็สงบลงแล้ว เมื่อคำนึงถึงพระคุณของพระเจ้าวิเทหราชที่มอบตำแหน่งอันยิ่งใหญ่ให้แก่ตน มโหสถบัณฑิตจะคิดพัฒนาบ้านเมืองอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) |