พระเจ้าจุลนีทรงสดับอุบายนั้นแล้ว ก็ทรงยินดียิ่งนัก ตรัสชมพราหมณ์เกวัฏว่า “แผนการของท่านอาจารย์ช่างแยบยลยิ่งนัก ถ้าเช่นนั้น
ท่านจงรีบเตรียมการเคลื่อนพลโดยเร็วเถิด”
ขณะกำลังกราบทูลแผนการให้พระเจ้าจุลนีทรงทราบนั้น พราหมณ์เกวัฏมั่นใจเหลือเกินว่า ท่ามกลางอุทยานที่สงัดเงียบเช่นนี้ คงไม่มีใครล่วงรู้ความลับของตนแน่ แต่ความจริงหาได้เป็นอย่างที่คิดไม่ เพราะในขณะที่กำลังปรึกษาหารือกันอยู่นั้น ได้มีนกแขกเต้าแสนรู้ตัวหนึ่ง แฝงตัวจับอยู่ที่กิ่งสาละ แอบฟังบทสนทนาระหว่างของคนทั้งสองอย่างตั้งใจมันคือเจ้าสุวโปดกมาถูระ จากมิถิลานครนั่นเอง มันกำลังปฏิบัติการสืบราชการลับตามคำสั่งของมโหสถบัณฑิตโดยที่ไม่มีใครรู้เลย
เมื่อพราหมณ์เกวัฏกราบทูลแผนการจบลง สุวโปดกมาถูระก็บินรี่ออกจากที่ซ่อน โผลงจับกิ่งสาละที่อยู่เหนือศีรษะของพราหมณ์เกวัฏ พลางถ่ายคูถรดลงบนศีรษะของเกวัฏ แล้วร้องขึ้นว่า “ปรึกษาอะไรกัน”
พราหมณ์เกวัฏได้ยินเสียงนั้น ก็รีบแหงนหน้าขึ้นมองไปทางต้นเสียง เจ้าสุวโปดกก็ฉวยโอกาสนั้นถ่ายคูถลงในปากของเกวัฏอีกครั้งจากนั้นก็บินไปส่งเสียงร้องไปว่า “เกวัฏเอ๋ย นึกหรือว่าจะมีเพียงท่านสองคนเท่านั้นที่รู้ ถึงเราก็รู้เหมือนกัน อีกหน่อยใครๆเขาก็จะรู้กันทั้งหมด”
เจ้าสุวโปดกส่งเสียงร้องเหมือนจะเย้ยเกวัฏให้เจ็บใจ แล้วมันก็รีบบินถลาขึ้นไปบนท้องฟ้า ก่อนที่จะบินกลับมิถิลานครด้วยกำลังเร็วดุจลมพัดพราหมณ์เกวัฏถูกสุวโปดกมาถูระถ่ายคูถลงในปากเท่านั้นยังไม่พอ ยังถูกเย้ยหยันทิ้งท้ายอีก เขาจึงทั้งโกรธทั้งแค้นใจนัก ตะโกนลั่นอุทยานว่า “เร็วเข้า ทหาร พวกเจ้าจงช่วยกันจับเจ้านกนั่น อย่าให้รอดไปได้ ฆ่ามันให้ตายเสียโดยเร็ว”
เหล่าไพร่พลรับคำสั่งแล้ว ก็พากันวิ่งกรูตามสุวโปดกไป ต่างร้องบอกกันและกันว่า “เร็ว ช่วยกันจับมันให้ได้ จับให้ได้” เสียงนั้นดังสนั่นเกรียวกราว สับสนอลหม่านไปทั้งพระราชอุทยาน
ฝ่ายสุวโปดกนั้นปราดเปรียวว่องไวเสียยิ่งกว่าลม มันกระพือปีกบินเพียงครู่เดียวเท่านั้นก็สามารถรอดพ้นสายตาของพวกทหารไปได้ ครั้นเห็นว่าปลอดภัยแล้ว มันก็รีบบินถลาลมไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าสู่มิถิลานคร
เมื่อเข้าไปยังเรือนของมโหสถบัณฑิตแล้ว สุวโปดกก็จับลงตรงบ่าของมโหสถทันที เป็นสัญญาณหมายให้รู้ว่า “นี้เป็นความลับสุดยอดจริงๆ” การเลือกที่เกาะนั้นเป็นความชาญฉลาดอย่างหนึ่งของเจ้าสุวโปดก คือเมื่อใดที่มันต้องการจะบอกความลับแก่มโหสถเพียงผู้เดียว สุวโปดกก็จะลงจับที่จะงอยบ่าของมโหสถ หรือหากต้องการจะบอกแก่นางอมราเทวีด้วย มันก็จะลงจับที่ตัก แต่หากประสงค์จะบอกให้มหาชนได้รู้ทั่วกัน มันก็จะลงจับที่พื้นดิน
มโหสถบัณฑิตเห็นกิริยาของสุวโปดกแล้ว ก็รู้ว่าสุวโปดกมีความลับสำคัญมาบอก จึงพาสุวโปดกขึ้นไปยังเรือนชั้นบนซึ่งเป็นที่ปลอดคน ครั้นแล้วจึงเอ่ยถามว่า “ว่าอย่างไร พ่อมาถูระ พ่อได้ทราบข่าวสำคัญอะไรมาอย่างนั้นหรือ”
สุวโปดกจึงแจ้งว่า “นายท่าน ภัยใดๆจากแคว้นทั้งหลายหามีไม่ จะมีก็แต่แผนการของพราหมณ์เกวัฏ ปุโรหิตของพระเจ้าจุลนีแห่งปัญจาลนครโน้น ที่กำลังจะเป็นภัยใหญ่หลวงแก่ชมพูทวีปทีเดียว”แล้วสุวโปดกก็ได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในระหว่างที่ตนเฝ้าสังเกตการณ์อยู่ในพระราชอุทยานให้มโหสถฟังตั้งแต่ต้นจนจบ
มโหสถบัณฑิตถามว่า “แล้วพระเจ้าจุลนีทรงเห็นดีเห็นงามตามนั้นหรือไม่”
“ทรงเห็นชอบอย่างมากทีเดียว” สุวโปดกยืนยัน มโหสถจึงซักต่อว่า “แล้วพระเจ้าจุลนีทรงตกปากรับคำว่าจะทำตามนั้นหรือไม่ล่ะ” สุวโปดกผงกหัวยืนยันว่า “ไม่ต้องสงสัยล่ะ บ่าวได้ยินชัดเจนเต็มสองหู พระเจ้าจุลนีทรงรับจะกระทำตามนั้นให้เร็วที่สุด”
มโหสถได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวชมสุวโปดกว่า “ดีล่ะ พ่อได้ทำกิจสมกับหน้าที่แล้ว” มโหสถประคองสุวโปดกด้วยมือทั้งสองอย่างทะนุถนอม แล้วจึงค่อยๆใส่เข้าไปกรงทองคำซึ่งปูลาดด้วยผ้าเนื้อละเอียดที่อ่อนนุ่ม
การล่วงรู้ถึงเหตุเภทภัยที่จะมาถึงตนอย่างเท่าทัน ก่อนที่ภัยนั้นมันจะเกิดขึ้น แล้วเตรียมหาทางป้องกันภัยนั้นมิให้เกิดขึ้นกับตนได้ หรืออย่างน้อยก็ผ่อนหนักให้เป็นเบา นั้นเป็นวิสัยของบัณฑิต เปรียบเหมือนบุคคลผู้เห็นงูพิษแต่ไกล ย่อมมีโอกาสที่จะไล่มันให้หนีไปด้วยก้อนดินหรือท่อนไม้ กระทั่งหากเป็นผู้ที่กล้าพอ ปรารถนาพอจะจับมันก็ย่อมทำได้
บุคคลผู้ที่เกิดมาในโลกนี้ก็เช่นเดียวกัน ย่อมมีภัยในปรโลกที่เป็นปริศนาอันมืดมิดรอเราอยู่ ผู้ที่ฉลาดย่อมมองเห็นภัยนั้นแต่ไกล และหาทางป้องกันแก้ไขภัยนั้น ผ่อนหนักให้เป็นเบา หรือจากร้ายให้กลายเป็นดี ด้วยการหมั่นทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาอยู่เป็นนิตย์ หากทำได้ดังนี้ ชีวิตเขาก็จะปลอดภัย และมีความสุข ส่วนเรื่องราวของมโหสถบัณฑิตจะดำเนินไปอย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) |